เราจัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับภาคเอกชน
บริษัท ไบโอเทค โกลเบิ้ล อินโนเวชั่น จำกัด (BGIC)
ทีมเทคโนโลยีของเราจึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งนักจุลชีววิทยา นักสรีรวิทยาของจุลินทรีย์ นักชีวสารสนเทศ และนักโภชนาการ ที่มีประสบการณ์และความเข้าใจด้านจุลชีววิทยาในลำไส้ของมนุษย์ โดยเฉพาะของคนไทยแบบรอบด้าน นอกจากนั้นเรายังมีการพัฒนาระบบ AI เพื่อสั่งสมองค์ความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีผลต่อสุขภาพคน เพื่อให้การวิเคราะห์อ่านผลมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ
MISSION
สามารถตรวจวิเคราะห์และให้ข้อมูลจุลินทรีย์เฉพาะบุคคลที่ถูกต้องแม่นยำ และสามารถใช้ข้อมูลจุลินทรีย์ดังกล่าวเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตร โดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเพื่อพัฒนายา อาหารเสริม หรืออาหารที่เหมาะกับบุคคลนั้นๆ ได้
VISION
เราตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูลความรู้ด้านจุลินทรีย์ในแถบประเทศอาเซียน หลังจากค้นพบว่าจุลินทรีย์ในคนไทยและคนในภูมิภาคอื่นๆ นั้นมีลักษณะไม่เหมือนกัน เราจึงทำการรวบรวมข้อมูลจุลินทรีย์ของคนไทยและอาเซียนโดยเฉพาะ เพื่อให้สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในด้านการดูแลสุขภาพของคนไทยและอาเซียนอย่างยั่งยืนในอนาคต
จุดเริ่มต้นของ modgut
จุดเริ่มต้นของมดกัตเกิดจากทีมนักวิจัยไมโครไบโอมนำโดย รศ.ดร. สุภาภรณ์ ชีวะธนรักษ์ ค้นพบความลับของกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) ที่มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพของมนุษย์ รศ.ดร. สุภาภรณ์ และทีม ได้เข้าร่วมการตรวจจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารกับโครงการ American Gut Microbiome โดยส่งตัวอย่างอุจจาระไปยังโครงการนี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากได้รับผลการตรวจกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ก็ได้พบว่าในตัวอย่างอุจจาระของคนไทย ประมาณ 10 ตัวอย่าง มีรูปแบบของกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ที่แตกต่างจากกลุ่มคนเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งมีวัฒนธรรมในเรื่องการรับประทานอาหารที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแบบตะวันตก และมีการค้นพบที่น่าสนใจอีกอย่างคือ รูปแบบจุลินทรีย์ของคนไทยบางคนมีความคล้ายคลึงกับรูปแบบจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของคนอ้วน แต่จริงๆ แล้วคนไทยคนนั้นไม่ได้เป็นคนอ้วนเลย
จึงสามารถทำการสรุปได้ว่า รูปแบบจุลินทรีย์ของคนไทย และคนในภูมิภาคอื่นๆ นั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบของอาหารที่รับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
ดังนั้น ทีมนักวิจัยกลุ่มนี้ จึงมีความมุ่งหวังที่จะสร้างฐานข้อมูล และองค์ความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของคนไทยและอาเซียนโดยเฉพาะ เพื่อที่จะดูแลสุขภาพของคนไทยและอาเซียนได้อย่างเหมาะสม
ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีคนให้ความสนใจและทำการศึกษาด้าน Gut Microbiome ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์แบบเฉพาะตัวบุคคลเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โดยโรคบางชนิดอาจเกิดจากความไม่สมดุลของกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร หรือ มีจุลินทรีย์บางชนิดที่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด เช่น Fusobacteria ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
และที่น่าสนใจต่อมาคือการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของจุลินทรีย์ ในระบบทางเดินอาหารให้สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้ โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้วิธีการดังกล่าวกลายเป็นที่ยอมรับ และสามารถพัฒนาให้เป็นแนวทางในการรักษา หรือป้องกันโรคเฉพาะบุคคลได้
ด้วยความรู้ และหลักฐานด้าน Gut Microbiome ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเหล่านี้ทาง รศ.ดร. สุภาภรณ์ ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงนำเสนอโครงการการตรวจกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารนี้ ให้กับคณะผู้บริหารของมจธ. เพื่อขอการสนับสนุนซึ่งคณะผู้บริหาร มจธ. ก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของ Gut Microbiome ที่มีผลต่อสุขภาพนำไปสู่การดูแลตัวเองได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับ Gut Microbiome จึงให้การสนับสนุนโครงการตรวจหากลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของบุคลากร และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีขึ้น จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการมดกัต และบริษัท มด กัต จำกัด ต่อมา